บทความประชาสัมพันธ์ - บนเส้นทางที่ประเทศไทยถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและมุ่งหน้าเข้าสู่ยุคที่รัฐบาลเรียกว่า “Thailand 4.0” ทุกกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมจะนำวิทยาการ เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และการวิจัยพัฒนามาใช้เพื่อต่อยอดและพัฒนาธุรกิจอย่างจริงจังมากขึ้น พร้อมทั้งการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน กระบวนการผลิตสินค้าและการให้ บริการ ไปจนถึงวิธีการสื่อสารกับลูกค้าและสังคม
เทคโนโลยีหนึ่งที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันมากในปัจจุบัน ซึ่งเราจะสามารถผนวกโลกแห่งความเป็นจริงและโลกดิจิทัลเข้าด้วยกัน นั่นก็คือ Augmented Reality (AR) หรือเทคโนโลยีเสมือนจริงที่แสดงภาพดิจิทัลซ้อนทับบนสภาพแวดล้อมของจริงได้ เทคโนโลยีนี้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งต่างๆ รอบตัว ประสบการณ์ AR ที่กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทุกคนพูดถึงในขณะนี้ คงไม่พ้น เกม Pokemon Go ที่กำลังเป็นที่คลั่งไคล้ไปทั่วโลก เกมนี้น่าจะช่วยพิสูจน์ว่าเทคโนโลยี AR ได้ก้าวเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนเรียกได้ว่าอนาคตของ AR นั้นดูสดใสมาก ผลการศึกษาของ Juniper Research ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวิจัยตลาดโมบายและออนไลน์ระบุว่า ตลาดโดยรวมของเทคโนโลยี AR และอุปกรณ์แบบสวมใส่ (Wearable Technology) นั้น จะมีมูลค่าสูงถึงราว 5-6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 5 ปีนับจากนี้
เทคโนโลยี AR นั้นเข้ามามีบทบาทอย่างไรกับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี AR และแว่นตาอัจฉริยะ ถูกนำมาใช้ในมหาวิทยาลัยเพื่อฝึกอบรมวิศวกรและแพทย์ ซึ่งในแวดวงการแพทย์ มหาวิทยาลัยและโรงเรียนแพทย์ กำลังใช้เทคโนโลยี AR เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์ให้กับนักศึกษา เพื่อให้มองเห็นถึงรายละเอียด ตำแหน่ง และโครงสร้างของอวัยวะมนุษย์ หรือแม้กระทั่งในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์เอง ก็นำเทคโนโลยี AR มาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์พิเศษให้กับผู้เข้าชมงานศิลป์อีกด้วย
นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การผสานเทคโนโลยี AR เข้ากับแว่นตาอัจฉริยะเป็นการเปิดมิติใหม่ด้านการนำเสนอคอนเท้นท์ พร้อมทั้งยกระดับการสื่อสารด้วยภาพไปอีกขั้น โดยมีลักษณะการทำงานแบบ hands-free หรือไม่ต้องใช้มือช่วยจับอุปกรณ์ สำหรับเอปสันมีแว่นตาอัจฉริยะที่พัฒนาขึ้นเอง ภายใต้ชื่อ Moverio ซึ่งปัจจุบันได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในหลายภาคธุรกิจ”
ที่เมืองเบรสชา ประเทศอิตาลี มีการใช้แว่นตา Moverio ตามสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเห็นภาพเสมือนจริง 3 มิติของสถาปัตยกรรมของชาวโรมันในยุคโบราณ และนักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสสิ่งปลูกสร้างจากโลกเสมือนนั้นในรูปแบบอินเตอร์แอ็คทีฟกับคอนเท้นท์ต่างๆ ได้ จนรู้สึกราวกับว่าได้ย้อนเวลากลับไปอยู่ในยุคสองพันกว่าปีที่แล้วจริงๆ
ส่วนในภาคการศึกษาแว่นตา Moverio ถือเป็นเครื่องมือในอุดมคติสำหรับการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ของยุคศตวรรษที่ 21 ช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ได้มากขึ้น เช่นโรงเรียนอนุบาลที่เมืองนากาโน่ ประเทศญี่ปุ่น ใช้แว่นตา Moverio BT-200 ของเอปสัน ให้เด็กนักเรียนศึกษาเกี่ยวกับท้องฟ้าและหมู่ดาว
สำหรับแว่นตา Moverio ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรม เช่นกรณี Mekorot บริษัทผลิตน้ำดื่มที่ประเทศอิสราเอล ได้ใช้ระบบ AR และแว่นตา Moverio สนับสนุนการปฏิบัติงานของวิศวกรฝ่ายบำรุงรักษาที่ต้องทำงานในพื้นที่อันตรายจากกระแสไฟฟ้าแรงสูง โดยวิศวกรสามารถดูภาพแม่แบบของอุปกรณ์ รวมถึงขั้นตอนการบำรุงรักษาผ่านแว่นตา Moverio ได้
ส่วนภาคสาธารณสุข มีการใช้งานแว่นตา Moverio มานานแล้ว ในฐานะเครื่องมือประกอบการผ่าตัด เช่นกรณี CN2 ผู้พัฒนาเทคโนโลยี AR ได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่น Visualizing the Future ใช้คู่กับแว่นตา Moverio เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยกรณีต่อสายระบายของเหลวจากช่องเยื่อหุ้มปอด นอกจากนี้แว่นตา Moverio ยังใช้คู่กับเครื่องบินโดรนในการควบคุมการบินระยะไกล ซึ่งจะสามารถแสดงมุมมองเสมือนกับอยู่บนที่นั่งคนขับ พร้อมทั้งยังให้คำแนะนำและข้อมูลเส้นทางการบิน รวมถึงยังมีจีพีเอส เข็มทิศ และกล้องตรวจจับสัญญาณต่างๆ เพื่อช่วยยกระดับการควบคุมการบินของเครื่องบินโดรนให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยยิ่งขึ้น
นายยรรยง กล่าวต่อว่า “ปัจจุบันเราสื่อสารกับสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ ผ่านทางระบบจอสัมผัส ในอีกไม่ช้าเทคโนโลยี AR จะสามารถใช้คู่กับแว่นตาอัจฉริยะ ซึ่งจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารใหม่ ทำให้เราสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราได้มากขึ้นโดยไม่ต้องใช้มือช่วยจับอุปกรณ์เหมือนเดิม นอกจากนี้ เทคโนโลยี AR ยังมีแนวโน้มที่จะผสมผสานกับเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่จะเชื่อมอุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน หรือ Internet of Things ในขณะที่แว่นตาอัจฉริยะจะมีขนาดเล็กลง ภาพที่ได้มีคุณภาพมากขึ้น และแบตเตอรีใช้งานได้นานขึ้น ซึ่งทำให้เทคโนโลยีทั้งสองมีการแพร่หลายมากขึ้นในอนาคต และจะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทยตามแนวทาง Thailand 4.0 ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีทั้งสองจะไม่จำกัดอยู่แต่เพียงการใช้งานของผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี หรือการใช้ในอุตสาหกกรมหรือธุรกิจเท่านั้น แต่จะกระจายไปทั่วทุกกลุ่มผู้บริโภค และกลายเป็นเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันของทุกครัวเรือนในที่สุด”